2020-02-20 นายกฯ ร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้สวนรักษ์ธรรมชาติ และตรวจความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว | สยามธุรกิจ

https://www.siamturakij.com

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้การต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ ในโอกาสตรวจติดตามการปรับปรุงภูมิทัศน์สวนรักษ์ธรรมชาติ และความคืบหน้างานติดตั้งระบบเดินรถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยมี นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักงานเขตบางเขน บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) และผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ ณ บริเวณสวนรักษ์ธรรมชาติ (วงเวียนหลักสี่) เขตบางเขน โอกาสนี้นายกรัฐมนตรี และคณะร่วมปลูกต้นรวงผึ้ง และต้นยางนาในบริเวณสวนดังกล่าวด้วย

โครงการ “สวนรักษ์ธรรมชาติ” เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่กรุงเทพมหานครจัดขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ครบ 80 พรรษา มีพื้นที่ 3 ไร่ 2 งาน 20 ตารางวา จัดสร้างในปี พ.ศ.2550 โดยแขวงการการทางกรุงเทพ ร่วมกับ บริษัท เอลซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และกรมทางหลวงได้มอบให้สำนักงานเขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ดูแลบำรุงรักษาสวนและบริเวณใกล้เคียงตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 โดยกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ยังเป็นของกรมทางหลลวง ต่อมาในปี พ.ศ.2558 ได้ดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต จำเป็นต้องใช้พื้นที่บริเวณสวนรักษ์ธรรมชาติในการก่อสร้างสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (N17) เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ จึงปรับภูมิทัศน์คืนสภาพพื้นที่ให้เป็นสวนสาธารณะ โดยดำเนินการภายใต้แนวคิดสวนสาธารณะลดฝุ่นละออง (PM2.5) โดยเลือกพืชที่ใบมีผิวหยาบหรือมีขน ต้นไม้ที่ไม่ผลัดใบ และต้นไม้ที่มีใบจำนวนมาก เพื่อให้สามารถดักจับฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ ต้นคลอเดีย ต้นรวงผึ้ง ต้นแฮปปี้เนส ต้นข่อย ต้นลิ้นมังกร และต้นกระดุมทองเลื้อย เป็นต้น ซึ่งบริเวณเกาะกลางถนนใต้รถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือจากสถานีรถไฟฟ้าหมอชิตเก่าไปถึงตลาดยิ่งเจริญ มีเกาะกลางที่สามารถปลูกต้นไม้ได้ทั้งสิ้น 248 ช่วงเสา และได้มีการเลือกใช้พันธุ์ไม้ที่ดูดซับฝุ่นละอองได้ดี ดังนี้ ต้นข่อย จำนวน 16,000 ต้น ต้นไทรอังกฤษ จำนวน 64,500 ต้น ต้นลิ้นมังกร จำนวน 100,000 ต้น ต้นซุ้มกระต่าย จำนวน 700,000 ต้น ต้นหมากเหลือง จำนวน 1,800 ต้น และทางเท้าบริเวณสถานีใช้ต้นคลอเดีย จำนวน 200 ต้น เพื่อให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจแก่ประชาชน และเป็นปอดของกรุงเทพมหานครต่อไป

จากนั้น เวลา 16.00 น. นายกรัฐมนตรีตรวจความคืบหน้างานก่อสร้างสถานีและงานติดตั้งระบบเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ณ สถานีรถไฟฟ้าวัดพระศรีมหาธาตุ (N17) พร้อมรับฟังบรรยายสรุปความคืบหน้างานติดตั้งระบบเดินรถและภาพรวมการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และจุดเชื่อมต่อการเดินทางกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ปัจจุบันมีความคืบหน้าของงานติดตั้งระบบเดินรถทั้งโครงการอยู่ที่ ร้อยละ 70  โดยในส่วนต่อขยายจากสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ – สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ จำนวน 4 สถานี คือ สถานีกรมป่าไม้  สถานีบางบัว สถานีกรมทหารราบที่11 และสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ระยะทาง 4.2 กิโลเมตร ขณะนี้แล้วเสร็จประมาณ ร้อยละ 80  ซึ่งจะทดลองเดินรถเสมือนจริง ตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย.63 เป็นต้นไป เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดให้บริการประชาชนในช่วงต้นเดือน มิ.ย.63  อย่างไรก็ตามหลังจากที่กรุงเทพมหานครได้เปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ ต่อเนื่องจากสถานีห้าแยกลาดพร้าว - สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 4 ธ.ค.62 จนถึงปัจจุบัน มีประชาชนใช้บริการจำนวนมาก โดยในวันทำการปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยที่ 100,262 คน/วัน คาดว่าเมื่อขยายเส้นทางให้บริการถึงสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ จะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 150,000 คน/วัน เนื่องจากมีทั้งสถานที่ราชการ สำนักงานเขต หน่วยงานทหาร สถานศึกษาหลายแห่ง รวมทั้งเป็นที่ตั้งของวัดพระศรีมหาธาตุฯ ซึ่งจะทำให้ประชาชนที่เดินทางในบริเวณนี้ได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น ช่วยลดปัญหาการจราจรในถนนพหลโยธิน และบริเวณวงเวียนหลักสี่ได้เป็นอย่างดี

ขณะเดียวกันบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้เตรียมความพร้อมทั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และด้านบุคลากรได้แก่ เจ้าหน้าที่สถานี เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และอื่นๆ รวม 100 กว่าอัตรา ในการให้บริการผู้โดยสาร พร้อมจัดหลักสูตรอบรมเจ้าหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งด้านการให้บริการ ด้านความปลอดภัย รวมถึงการซ้อมแผนฉุกเฉินอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดให้บริการไปสถานีวัดพระศรีมหาธาตุในเดือนมิ.ย.63 และสถานีคูคต ภายในปี 2563 นี้  สำหรับจำนวนขบวนรถไฟฟ้าที่บริษัทฯ ให้บริการในระบบปัจจุบันมีทั้งสิ้น 79 ขบวน โดยมีขบวนรถใหม่จากบริษัทซีเมนส์ จำกัด และบริษัท ซีอาร์ซี ฉางชุน เรลเวย์ เวฮิเคิล ที่บริษัทได้จัดซื้อเพิ่มเติมมาอีก 46 ขบวน โดยขณะนี้ได้รับมอบแล้วจำนวน 40 ขบวน เหลืออีก 6 ขบวน จะส่งมอบแล้วเสร็จภายในปี 2563 ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทฯ มีขบวนรถไฟฟ้าที่สามารถรองรับการให้บริการ รวมทั้งสิ้น 98 ขบวน พร้อมรองรับการให้บริการแก่ผู้โดยสาร ตลอดเส้นทางทั้งหมด 68.25 กิโลเมตร เป็นเวลาอีกหลายปี
 
ที่มา : https://www.siamturakij.com
Visitors: 217,496