2-5-61 สภา กทม.ยังไม่เคาะรับโอน “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” ผู้ว่าฯ เสนอเก็บ 65 บาทตลอดสาย ให้เอกชนรับผิดชอบหนี้แทน | ผู้จัดการ Online

สภา กทม. ยังไม่เคาะรับโอน “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ และ หมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต ด้าน ผู้ว่าฯ กทม. ย้ำ ไม่นำงบ กทม. มาใช้หนี้กว่า 1.1 แสนล้านบาท เล็งให้บริษัทเอกชนประมูลการเดินรถรับผิดชอบแทน เว้นค่าเช่า 5 - 10 ปีแรก คาดกำหนดอัตราค่าโดยสารตลอดเส้นทางสูงสุด 65 บาท ด้าน ส.ก. ท้วงหากรับมาทำ ควรได้รับงบอุดหนุนแบบเดียวกับ รฟม. ด้วย

ความคืบหน้ากรณีกรุงเทพมหานคร (กทม.) การรับโอนทรัพย์สินและหนี้สินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ และ ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต ระยะทางรวม 32 กิโลเมตร จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประทศไทย (รฟม.) ซึ่ง กทม. ต้องเสนอสภากรุงเทพมหานครอนุมัติ

วันนี้ (2 พ.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งมี นายกิตติ บุศยพลากร รองประธานสภา กทม. คนที่ 1 เป็นประธาน มีวาระการพิจารณาเรื่อง การรับโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ และ ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต โดย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการ กทม. กล่าวชี้แจงว่า การรับมอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงต่อขยายสายใต้และสายเหนือ จะมีส่วนของค่าใช้จ่ายโครงสร้างพื้นฐานและดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้กับ รฟม. กว่า 110,000 ล้านบาท ซึ่งหาก กทม.จะรับโอนโครงการดังกล่าวมา ยืนยันว่า จะไม่มีการนำงบประมาณของ กทม. มาใช้หนี้แต่อย่างใด แต่จะกำหนดรายละเอียดเงื่อนไขและข้อกำหนดให้บริษัทที่เข้ามาดำเนินการประมูลต้องรับภาระหนี้สินไปด้วย ซึ่งอัตราค่าเช่าอาจมีการปรับให้เหมาะสม โดย 5 - 10 ปีแรก อาจงดเว้นค่าเช่า เนื่องจากบริษัทที่ประมูลได้ต้องนำรายได้ไปใช้หนี้ แต่หลังจากนั้น จะให้ค่าตอบแทนกับ กทม. ในอัตราใด จะมีการกำหนดให้ชัดเจน หลักเกณฑ์เบื้องต้นราคาค่าโดยสารจะกำหนดให้ทั้งสาย ตั้งแต่ส่วนต่อขยายสายเหนือ ลำลูกกา - คูคต ถึง แบริ่ง - สมุทรปราการ อยู่ที่ 65 บาท อย่างไรก็ตาม หาก สภา กทม. เห็นควรให้มีการปรับแก้ในรายละเอียด ก็พร้อมที่จะปรับปรุงให้เหมาะสมและถูกต้อง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนในอนาคตต่อไป

นายเชนทร์ วิพัฒน์บวรวงศ์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในช่วงเริ่มต้นของโครงการ มติคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ รฟม. ดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยให้กระทรวงการคลังอุดหนุนงบประมาณโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้น เมื่อ กทม. ได้นำโครงการดังกล่าวมาดำเนินการเองก็ควรได้รับการอุดหนุนเช่นเดียวกับ รฟม. เนื่องจากการที่ให้ กทม. รับดำเนินโครงการเองทั้งหมดจะทำให้ผู้โดยสารได้รับอัตราค่าโดยสารที่เป็นธรรม ประชาชนสามารถเดินทางได้โดยสะดวก ลดความแออัดของเมือง รวมทั้ง รฟม.จะทุ่นค่าใช้จ่ายในเรื่องของค่าที่จอดรถ จึงขอให้คณะผู้บริหารได้ดำเนินการเจรจาในส่วนของภาระหนี้สินดังกล่าวให้เรียบร้อย

นายชยาวุธ ศิริยุทธ์วัฒนา สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ที่ผ่านมามีแต่การศึกษาถึงประโยชน์และรายได้ที่จะเกิดขึ้น แต่ยังไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับรายจ่ายที่จะเกิดขึ้น เมื่อครบกำหนด 30 ปี ต้องมีค่าดำเนินการต่างๆ เกิดขึ้นอีกมาก และอาจส่งผลกระทบต่องบประมาณและการดำเนินโครงการอื่นๆ ของกรุงเทพมหานครในอนาคตแน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภา กทม. ยังไม่มีการเคาะว่าจะรับโอนโครงการดังกล่าวหรือไม่ ส่วนข้อเสนอในการดำเนินการนั้น พล.ต.อ.อัศวิน ได้ทำหนังสือถึงประธานสภา กทม. เรื่องการรับโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ และ ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต โดยมีการยื่น 3 ข้อเสนอในการดำเนินการของ กทม. หากรับโอนโครงการมา คือ 1. กทม. รับผิดชอบการบริหารจัดการให้มีการเดินรถไฟฟ้า ซึ่งประมาณการว่าจะขาดทุน 10 ปีแรก ปี 2562 - 2573 ราว 2.1 หมื่นล้านกว่าบาท และเงินอุดหนุนช่วง 3 ปีหลัง คือ ปี 2573 - 2575 อีก 1.4 พันล้านกว่าบาท โดยอาจต้องมีการจัดหางบมาอุดหนุนทั้งสองส่วนหรือเจรจากับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (มหาชน) จำกัด ขอให้ยกค่าจ้างเดินรถส่วนที่ขาดทุน 10 ปีแรกไว้ ไปชำระหนี้หลังปี 2573 โดยมีการเจรจาเรื่องดอกเบี้ยตามสมควร

2. ให้สัมปานการเดินรถไฟฟ้าส่วนที่รับโอนให้เอกชนมาดำเนินการบริหารจัดการและรับผิดชอบกำไรขาดทุนแทน กทม. ข้อดีคือ กทม. ไม่ต้องรับภาระการบริหารจัดการการเดินรถและผลประกอบการ แต่ข้อเสียคือ กทม. ยังต้องรับภาระหนี้โครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่ผลดำเนินการช่วง 10 ปีแรกจะเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการเดินรถเท่านั้น ไม่รวมดอกเบี้ยของค่างานโครงสร้างพื้นฐานและค่า E&M ทำให้ไม่มีเอกชนสนใจมาร่วมลงทุน และหากมีเอกชนมาร่วมก็จะทำให้รถไฟฟ้าสายสีเขียวมีผู้ประกอบการเดินรถ 3 ราย ทำให้ประชาชนอาจเสียค่าโดยสารในอัตราสูงจากค่าแรกเข้าและจากโครงสร้างค่าโดยสารที่แตกต่างกัน

3. การแก้ไขสัมปทาน BTS เนื่องจากบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับสัมปทานการเดินรถในเส้นทางสายสีลมและสายสุขุมวิท รวมทั้งรับจ้างกรุงเทพมหานครในการเดินรถระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครส่วนต่อขยาย รวมทั้งรับจ้างการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ และ ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต หากสามารถเจรจาและดำเนินการแก้ไขสัญญาสัมปทานหรือการให้สัมปทานใหม่กับบริษัท โดยให้บริษัทรับผิดชอบการชำระหนี้ทั้งหมด รวมทั้งแบ่งสรรรายได้ให้ กทม.บางส่วนในอัตราที่เหมาะสม เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายในการจัดทำบริการสาธารณะอื่นได้ จะช่วยแบ่งเบาภาระเรื่องหนี้และเรื่องการเดินรถของ กทม.
 
Visitors: 210,378