2018-02-08 บช.น. รฟม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าวการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดแยกรัชโยธิน คืบหน้าด้วยเทคโนโลยีการก่อสร้างผนังอุโมงค์ทางลอดรูปแบบใหม่ CCSP แห่งแรกของประเทศไทย

วันนี้ (8 กุมภาพันธ์ 2561) เวลา 10.00 น. พันตำรวจเอก สำเริง สวนทอง รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 2 (รับผิดชอบงานจราจร) พร้อมด้วย นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ช่วยผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผู้แทนจากกรุงเทพมหานคร ผู้แทนจากธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้แทนจากบริษัทที่ปรึกษาโครงการ และผู้แทนจากบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้รับจ้างก่อสร้าง (สัญญาที่ 1) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ร่วมแถลงข่าวและนำสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดแยกรัชโยธิน ณ บริเวณพื้นที่ก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดแยกรัชโยธิน ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร

พันตำรวจเอก สำเริง สวนทอง รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 2 (รับผิดชอบงานจราจร) กล่าวว่า บช.น. ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลจัดการจราจรบริเวณแยกรัชโยธินในระหว่างที่มีการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดแยกรัชโยธิน ซึ่งก่อนจะเริ่มงานก่อสร้างบริเวณแยกรัชโยธิน ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงผลกระทบด้านการจราจร ดังนั้น บช.น. รฟม. กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจึงได้ร่วมบูรณาการงานในด้านจัดการด้านจราจรและงานก่อสร้าง เพื่อเร่งรัดการดำเนินงานและลดผลกระทบด้านการจราจรแก่ประชาชน

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ช่วยผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ภายหลังจาก รฟม. ได้เริ่มดำเนินงานก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดแยกรัชโยธินตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคม 2560 รฟม. ได้ประสานงานและได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี ทำให้งานก่อสร้างเป็นไปตามแผนงานที่กำหนด รวมถึง รฟม. ได้นำเทคนิคการก่อสร้างรูปแบบใหม่มาใช้ในงานก่อสร้างเพื่อเร่งรัดการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยลดผลกระทบด้านการจราจรให้แก่ประชาชน โดยในขั้นตอนการก่อสร้างผนังอุโมงค์ รฟม. ได้ใช้แผงคอนกรีตอัดแรง CCSP (Concrete Corrugated Sheet Pile) และกำแพงกันดินแบบหล่อสำเร็จ (Precasted Retaining Wall) สำหรับผนังอุโมงค์ในช่วงที่ตื้นแทนการก่อสร้างที่ใช้โดยทั่วไป คือ การขุดดินโดยใช้เข็มพืดเหล็กชั่วคราว (Steel Sheet Pile) ซึ่งเป็นวิธีการก่อสร้างผนังอุโมงค์โดยทั่วไปซึ่งใช้พื้นที่ในการก่อสร้างค่อนข้างมากและมีขั้นตอนการก่อสร้างหลายขั้นตอน แต่เมื่อใช้เทคนิคการก่อสร้างด้วย CCSP ซึ่งจะก่อสร้างโดยการกดแผ่นคอนกรีตอัดแรง CCSP ให้ชิดติดกันโดยมีแผ่นยางกันซึมระหว่าง CCSP พร้อมกับการอัดฉีดน้ำปูนเพิ่มเติมบริเวณรอยต่อ จึงทำให้สามารถใช้พื้นที่ระหว่างการก่อสร้างน้อยลงและลดระยะเวลาการก่อสร้างได้มากกว่าการก่อสร้างตามรูปแบบเดิม โดยจะสามารถลดระยะเวลาการก่อสร้างจากแผนงานเดิม 30.5 เดือน เหลือเพียง 24 เดือน (ลดเวลาได้ กว่า 6 เดือน) ช่วยให้เริ่มงานในขั้นตอนต่อไปได้เร็วกว่ากำหนดและสามารถคืนผิวจราจรได้เร็วขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้เส้นทางบนถนนรัชดาภิเษกและถนนพหลโยธินได้รับความสะดวกในการเดินทางมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน การก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดแยกรัชโยธิน มีความก้าวหน้า (ณ 31 มกราคม 2561) 57.04% โดยขณะนี้ได้ดำเนินการก่อสร้างผนังแล้วเสร็จ 71.00% และจะเริ่มดำเนินการขุดเจาะดินจากปลายอุโมงค์ทั้งสองด้านจนบรรจบกันที่กลางอุโมงค์ประมาณเดือนตุลาคม 2561 หลังจากนั้นจึงเริ่มดำเนินการติดตั้งระบบสาธารณูปโภคภายในอุโมงค์ โดยมีกำหนดแล้วเสร็จและเปิดให้ใช้งานภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 สำหรับงานก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามแยกรัชโยธิน ปัจจุบันมีความก้าวหน้า 66.91% และงานก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามแยกเกษตร มีความก้าวหน้า 68.31% อย่างไรก็ดี รฟม. จะพยายามเร่งรัดงานก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดแยกรัชโยธิน สะพานข้ามแยกรัชโยธินและสะพานข้ามแยกเกษตรให้สามารถเปิดให้ใช้งานได้ภายในปี 2561 ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต มีความก้าวหน้ารวม 55.64% กำหนดเปิดให้บริการภายในปี 2563

----------------------------------------------

 

กองสื่อสารองค์กร สำนักผู้ว่าการ

โทร 0 2716 4000 ต่อ 1720

โทรสาร 0 2716 4019

Email: pr@mrta.co.th

 

...................................................................................................

#วิสัยทัศน์รฟม. (พ.ศ.2560-2564)

เป็นองค์กรที่มีความเป็นเลิศด้านรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและส่งเสริมการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน

Visitors: 210,177