16-9-59 นักวิชาการ ชี้จำเป็นต้องเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสีเหลือง-สีเขียว : Voice TV

นักวิชาการด้านคมนาคม ระบุ จำเป็นต้องเชื่อมต่อช่วงรอยต่อระหว่าง รถไฟฟ้าสายสีเหลือง เส้นทางลาดพร้าว-สำโรง กับรถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต  เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยปัญหาเดียวกับสายสีม่วง พร้อมยืนยันข้อจำกัดทางวิศวกรรม สามารถแก้ไขได้

นายเอกชัย  สุมาลี  นักวิชาการด้านคมนาคม และผู้อำนวยการศูนย์ 'สมาร์ทซิตี้  รีเสิร์ช เซ็นเตอร์'  หรือ เอสซีอาร์ซี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  แนะภาครัฐ จำเป็นต้องเชื่อมต่อช่วงรอยต่อระหว่าง รถไฟฟ้าสายสีเหลือง กับรถไฟฟ้าสายสีเขียวดังกล่าว  มิเช่นนั้นจะเกิดมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่ควรได้รับ  และผู้โดยสารน้อยกว่าเป้าหมาย  ซ้ำรอยรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่ -บางซื่อ และแอร์พอร์ตเรลลิ้งก์  เนื่องจากการเชื่อมต่อ จะช่วยก่อให้เกิด Network  Effect  หรือปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ  โดยควรยึดอุปสงค์หรือความต้องการของประชาชนเป็นหลัก  มากกว่าการผลักภาระไปให้ประชาชน   

ส่วนข้อจำกัดทางวิศวกรรม ซึ่งภาครัฐระบุว่าไม่สามารถสร้างให้เชื่อมต่อกันได้ เพราะมีอุโมงค์ใต้ดินของรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีอยู่ด้านล่าง  ในความเป็นจริง สามารถแก้ไขได้ด้วยการกำหนดตำแหน่งเสาเข็มให้เหลื่อมกัน  และสร้างสกายวอล์ค  ซึ่งเป็นทางเดินคุณภาพเพื่อเชื่อมต่อกันมากขึ้น  เชื่อว่าแม้การก่อสร้างเชื่อมต่อจะมีความซับซ้อน แต่จะให้ผลประโยชน์ที่คุ้มค่า  

ส่วนการแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีม่วง ด้วยการลดราคาค่าโดยสาร ผู้อำนวยการศูนย์สมาร์ทซิตี้ รีเสิร์ช เซ็นเตอร์ มองว่า เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด เนื่องจากผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้า  มีความต้องการที่แตกต่างจากผู้โดยสารที่ใช้บริการรถเมล์  คือให้ความสำคัญกับเรื่องสะดวกสบายเป็นหลัก มากกว่าปัจจัยเรื่องราคา 

ภาครัฐ จึงควรเพิ่มความสะดวกในการใช้รถไฟฟ้าให้กับประชาชน  ด้วยการบูรณาการร่วมกับ ขสมก. วางระบบขนส่ง หรือ Feeder  Route โดยรอบสถานีไปยังย่านชุมชนต่างๆ และเร่งรัดให้เกิดการเชื่อมต่อบริเวณรอยต่อสถานีเตาปูน-บางซื่อ เพราะรถไฟฟ้าสายสีม่วง เป็นเส้นทางที่ขนส่งคนจากรอบนอกเมือง จุดเชื่อมต่อเข้าเมือง จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจใช้บริการ 

ขณะเดียวกัน ในระยะยาวจะต้องวางรูปแบบการขนส่งให้เป็นไปตามลำดับขั้น  และออกแบบเมืองให้สอดคล้องกับรถไฟฟ้า  ยึดรถไฟฟ้าเป็นศูนย์กลาง และนำระบบขนส่งอื่นๆ เข้ามาสนับสนุน โดยระยะทางที่เหมาะสมต่อการเดินเท้าเพื่อเชื่อมต่อกับระบบข่นส่งอื่นๆ ไม่ควรเกิน 500 เมตร 

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส  ระบุว่า  ในสัปดาห์หน้า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. เตรียมเชิญบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม มาเจรจาแผนการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย รวมทั้งสายเฉลิมรัชมงคลและรอยต่อ 1 สถานี โดยตั้งเป้าหมาย ให้สัมปทานหมดพร้อมกันปี 2592 จากเดิมปี 2585 เนื่องจากส่วนต่อขยาย ไม่ได้เก็บค่าแรกเข้า 14 บาท และคาดว่ารัฐบาลต้องช่วยอุดหนุน 28,000 ล้านบาท  

 

http://news.voicetv.co.th/business/412242.html

Visitors: 210,168