29-4-59 ธุรกิจเหล็กในไทยมีแนวโน้มฟื้นตัว…อานิสงส์จากโครงการก่อสร้างและเหล็กเกรดพิเศษเติบโต | ฐานเศรษฐกิจ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์เรื่อง “ธุรกิจเหล็กในไทยมีแนวโน้มฟื้นตัว…อานิสงส์จากโครงการก่อสร้างและเหล็กเกรดพิเศษเติบโต”

ประเด็นสำคัญ

•ความต้องการใช้เหล็กในไทยในปี 2559 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากกิจกรรมการก่อสร้างเป็นหลัก โดยเฉพาะการใช้เหล็กในการก่อสร้างโครงการภาครัฐ นอกจากนี้ ยังมีความต้องการใช้เหล็กเกรดพิเศษในกลุ่มยานยนต์มากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากมีการขยายโรงงานการผลิต บวกกับตลาดส่งออก    มีทิศทางขยายตัว ส่วนเหล็กทั่วไปที่มิใช่เหล็กคุณภาพสูงและเกรดพิเศษยังเผชิญการแข่งขันด้าน ราคา

ดังนั้น ผู้ผลิตเหล็กไทยควรหันไปผลิตเหล็กเกรดพิเศษและเหล็กคุณภาพสูงให้มากขึ้น โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง เพื่อขยายฐานลูกค้าระดับกลาง-บน

•ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าความต้องการใช้เหล็กในไทยในปี 2559 น่าจะมีปริมาณ 16.65 – 17.0 ล้านตัน ซึ่งอยู่ในกรอบหดตัวร้อยละ 0.5 ถึงขยายตัวร้อยละ 1.5 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากที่หดตัวร้อยละ 3.5 ในปีก่อนหน้า โดยที่แรงฟื้นตัวของอุปสงค์เหล็กในไทยในปีนี้มีอานิสงส์มาจากความต้องการใช้ เหล็กก่อสร้างและเหล็กในกลุ่มยานยนต์เติบโต

อุตสาหกรรมเหล็กถือว่ายังเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่สำคัญของไทยและมีความ เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรม   ปลายน้ำที่หลากหลาย เช่น ก่อสร้าง และยานยนต์ โดยในปี 2559 ความต้องการเหล็กในไทยมีแนวโน้มเติบโตเล็กน้อยจากปี 2558 ทั้งนี้ การที่ความต้องการเหล็กมีทิศทางที่ดีขึ้นนั้น มีสาเหตุมาจากการใช้เหล็กก่อสร้างที่มีจำนวนประมาณครึ่งหนึ่งของปริมาณการ ใช้เหล็กทั้งหมดมีแนวโน้มขยายตัว ซึ่งสะท้อนได้จากปริมาณการใช้เหล็กก่อสร้าง (ไม่รวมบางรายการที่ผลิตจากเหล็กแผ่นรีดร้อน) เช่น เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 กลับมาขยายตัวถึงร้อยละ 12.0 (YOY) จากที่ 5 เดือนที่ผ่านมา หดตัวโดยเฉลี่ยร้อยละ 17.4 ต่อเดือน (สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย) โดยเป็นผลมาจากการที่ภาครัฐพยายามเร่งรัดการลงทุนในการก่อสร้างโครงสร้าง พื้นฐานทางด้านคมนาคมทั้งโครงการต่อเนื่องและโครงการใหม่ จึงทำให้ความต้องการเหล็กก่อสร้างปรับเพิ่มขึ้น

ส่วนความต้องการใช้เหล็กอีกกลุ่มหนึ่งคือ เหล็กอุตสาหกรรม น่าจะมีเพียงความต้องการเหล็กเกรดพิเศษในกลุ่มยานยนต์ที่มีทิศทางขยายตัว เล็กน้อย ขณะที่ ความต้องการเหล็กอุตสาหกรรมอื่นๆ มีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยอาจจะมีแรงฟื้นตัวไม่สูงนัก ประกอบกับทิศทางตลาดส่งออกน่าจะยังอ่อนแรง เห็นได้จากปริมาณการใช้เหล็กแผ่นรีดเย็นซึ่งเป็นเหล็กที่มักนำไปผลิตสินค้า อุตสาหกรรม ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2559 พบว่ายังหดตัวถึงร้อยละ 16.9 (YTD) หรือมีปริมาณ 0.41 ล้านตัน

จากที่กล่าวมาข้างต้น ทิศทางความต้องการใช้เหล็กในปี 2559 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากกิจกรรมการก่อสร้างเป็นหลัก (มีสัดส่วนการใช้เหล็กราวร้อยละ 51) โดยเฉพาะการใช้เหล็กในการก่อสร้างโครงการภาครัฐ บวกกับอานิสงส์จากความต้องการเหล็กเกรดพิเศษในกลุ่มยานยนต์น่าจะขยายตัว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่าความต้องการใช้เหล็กในไทยในปี 2559 น่าจะมีปริมาณ 16.65 – 17.0 ล้านตัน ซึ่งอยู่ในกรอบหดตัวร้อยละ 0.5 ถึงขยายตัวร้อยละ 1.5 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากที่หดตัวร้อยละ 3.5 ในปีก่อนหน้า

เหล็กก่อสร้างในปี 2559…ความต้องการน่าจะขยายตัวจากโครงการภาครัฐเป็นหลัก

จากที่กิจกรรมการก่อสร้างในปี 2559 มีทิศทางขยายตัวจากการลงทุนในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ทั้งโครงการต่อเนื่องและโครงการใหม่ จึงทำให้ความต้องการเหล็กก่อสร้างในปี 2559 น่าจะปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี โครงการขนาดใหญ่ทั้งโครงการใหม่และโครงการต่อเนื่อง บางโครงการอยู่ระหว่างการจัดเตรียมพื้นที่ในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้ความต้องการใช้เหล็กก่อสร้าง โดยเฉพาะชิ้นส่วนโครงสร้างเหล็กก่อสร้างขนาดใหญ่น่าจะทยอยปรับตัวดีขึ้น อย่างมีนัยสำคัญในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 และเติบโตต่อเนื่องไปยัง  ปี 2560 เช่น     ในโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางจิระ-ขอนแก่น และในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต

นอกจากกิจกรรมการก่อสร้างจะเติบโตในส่วนของโครงการภาครัฐแล้ว โครงการก่อสร้างของภาคเอกชนในส่วนของอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยก็ น่าจะทยอยปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย ซึ่งแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังอ่อนแรง แต่ก็ได้รับอานิสงส์จากโครงการบ้านประชารัฐที่กำหนดวงเงิน 30,000 ล้านบาท สำหรับนำไปปล่อยสินเชื่อ (Pre Finance) ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เและการเคหะแห่งชาติ ขณะที่ การก่อสร้างในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ประเภทพาณิชยกรรมและโรงงานอุตสาหกรรมในปี 2559 นี้ น่าจะยังชะลอตัว เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจไทยและกำลังซื้อของผู้บริโภคมีแนวโน้มฟื้นตัวไม่มาก นัก

ดังนั้น ความต้องการเหล็กก่อสร้างในปี 2559 นี้ น่าจะได้รับอานิสงส์มาจากกิจกรรมการก่อสร้างในโครงการภาครัฐเป็นหลัก บวกกับการก่อสร้างและต่อเติมในกลุ่มที่อยู่อาศัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่าความต้องการใช้เหล็กก่อสร้างในปี 2559 น่าจะมีปริมาณ 8.42 – 8.60 ล้านตัน ขยายตัวร้อยละ 2.3 – 4.5 จากปี 2558 มีปริมาณ 8.23 ล้านตัน เติบโตร้อยละ 2.0 (ในปี 2558 ภาครัฐสามารถเร่งการก่อสร้างได้เพียงในโครงการขนาดกลางและย่อย ส่วนการก่อสร้างของภาคเอกชน แม้จะไม่เติบโต แต่มีการใช้เหล็กสำเร็จรูปมากขึ้น)

อย่างไรก็ดี แม้ว่าในปี 2559 ความต้องการใช้เหล็กก่อสร้างโดยรวมในไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น แต่กลุ่มผู้ผลิตเหล็กไทยอาจจะไม่ได้รับผลประโยชน์ทุกราย เนื่องจากเหล็กก่อสร้างที่จะใช้ในโครงการภาครัฐนั้น บางประเภทยังไม่มีฐานการผลิตในไทย อย่างเช่น รางรถไฟ ซึ่งโดยปกติ ไทยนำเข้าประมาณ 70,000 ตันต่อปี ขณะที่ เหล็กก่อสร้างรายการอื่นที่ผลิตได้ในไทย แม้ว่าจะได้รับอานิสงส์จากที่ความต้องการเหล็กมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่กลับต้องเผชิญการแข่งขันทางด้านราคากับสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยสูญเสียส่วนแบ่งการตลาด เช่น ท่อเหล็ก ซึ่งสะท้อนได้จากปริมาณการนำเข้าท่อเหล็กในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 671,498 ตัน เติบโตสูงถึงร้อยละ 73 จากปี 2553 มีปริมาณการนำเข้าท่อเหล็กเพียง 388,564 ตัน

ภายใต้ภาวะการแข่งขันทางด้านราคาที่น่าจะทวีสูงขึ้นเช่นนี้ แม้ว่ากลุ่มผู้ผลิตเหล็กก่อสร้างไทยจะได้รับอานิสงส์จากที่การลงทุนในโครง สร้างพื้นฐานของภาครัฐมีทิศทางเติบโต และผู้ประกอบการกลุ่มนี้ก็ควรเร่งปรับตัวล่วงหน้าเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ ซึ่งแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจคือ การหันไปผลิตเหล็กก่อสร้างที่มีคุณภาพสูง เพื่อขยายฐานลูกค้าเป้าหมายใหม่ภายในประเทศหรือขยายตลาดส่งออก นอกจากนี้ ผู้ประกอบการก็อาจจะร่วมทุนกับพันธมิตรต่างชาติเพื่อเพิ่มทุนและรุกเข้าไปลง ทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจมีความต้องการเหล็กก่อสร้างเพิ่มขึ้นเนื่องจากในแต่ละประเทศกำลัง ขยายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่างๆ

นอกจากกลุ่มเหล็กก่อสร้างแล้ว ความต้องการใช้เหล็กในไทยในปี 2559 จะได้รับอานิสงส์เพิ่มเติมมาจากความต้องการใช้เหล็กเกรดพิเศษ (Premium Grade) ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวตามอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในปี 2559 นี้ นั่นคือ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ทั้งนี้ โดยปกติความต้องการใช้เหล็กในกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนมีสัดส่วนราวร้อยละ 18 – 20 ของอุปสงค์เหล็กทั้งหมด (รองจากเหล็กก่อสร้าง) และแม้ว่ายอดจำหน่ายยานยนต์และชิ้นส่วนภายในประเทศในปี 2559 อาจจะชะลอตัว แต่จากที่กลุ่มผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนมีการขยายโรงงานการผลิต บวกกับปริมาณการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ตลอดทั้งปี 2559 น่าจะเติบโตเล็กน้อย ก็อาจทำให้ความต้องการใช้เหล็กอุตสาหกรรมในกลุ่มยานยนต์ปรับตัวดีขึ้น แต่อาจจะขยายตัวในอัตราที่ไม่สูงนัก

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ผลิตเหล็กอุตสาหกรรมในไทยควรเน้นการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในกลุ่ม OEM (Original Equipment Manufacturers) มากขึ้น เพื่อเรียนรู้ขั้นตอนการผลิตและเทคโนโลยีใหม่ๆจากบริษัทแม่ที่ต่างประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่าความต้องการใช้เหล็กในกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนในปี 2559 มีทิศทางขยายตัวราวร้อยละ 1.2 – 2.8 หรือมีปริมาณราว 3.04 – 3.08 ล้านตัน จากปี 2558 มีปริมาณ 3.0 ล้านตัน

ส่วนทางด้านความต้องการเหล็กอุตสาหกรรมประเภทอื่นในปี 2559 กลับมีทิศทางชะลอตัวลง เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคและสภาพเศรษฐกิจไทยอาจจะทยอยฟื้นตัวไม่มาก นัก ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกก็น่าจะยังอ่อนแรง อย่างไรก็ดี ยอดขายของเหล็กอุตสาหกรรม (ไม่รวมในกลุ่มยานยนต์) ที่ผลิตในไทยอาจจะชะลอตัว เนื่องจากเหล็กอุตสาหกรรมทั้งขั้นกลางและปลายน้ำหลายรายการมีสินค้านำเข้ามา จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน และเครื่องจักรกลอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดของผู้ประกอบการไทยลดลง เห็นได้จากในปี 2558 รายได้ของกลุ่มผู้ผลิตเหล็กอุตสาหกรรมรายใหญ่ 5 ราย มีมูลค่าประมาณ 82,000 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 17 จากปี 2557 มีรายได้ 99,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ในอุตสาหกรรมปลายน้ำบางอุตสาหกรรมก็มีการใช้วัสดุอื่นทดแทนเหล็กมากขึ้น เช่น กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ดังนั้น กลุ่มผู้ผลิตเหล็กอุตสาหกรรมในไทยจึงควรหันไปใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีการ ผลิตขั้นสูง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าด้วยการผลิตเหล็กเกรดพิเศษและเหล็กคุณภาพ สูงให้มากขึ้น และเจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บน

กระนั้นก็ดี อุตสาหกรรมเหล็กในไทยยังมีข้อจำกัดในการผลิตเหล็กเกรดพิเศษ เนื่องจากการผลิตเหล็กประเภทนี้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องนำเข้าแท่งเหล็กที่ผลิตจากเหล็กดิบ (Iron Ore) มาจากต่างประเทศ แล้วนำมาหลอมให้เป็นสินค้าเหล็กแต่ละประเภทอีกทอดหนึ่ง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเหล็กในไทยต้องขึ้นอยู่กับราคาเหล็กดิบของโลก ขณะที่ ในกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น อินโดนีเซียและเวียดนาม ต่างก็มีโรงถลุงแร่เหล็กดิบหรือเหล็กต้นน้ำ การผลิตเหล็กเกรดพิเศษในไทยจึงค่อนข้างเสียเปรียบการแข่งขันทางด้านต้นทุน การผลิต

Visitors: 210,386